--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ESTILO (เอสติลอ) เป็นนิตยสารสำหรับวัยรุ่น กลุ่มเป้าหมาย 15-18
ปี
นิตยสารที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นที่มีความสนใจในเรื่องที่แตกต่างกันออกไป
ภายในเล่มจึงเลือกที่จะนำเสนอด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยว การทำอาหาร
การแต่งตัว การแต่งหน้า การดูแลสุขภาพ รวมถึงอัพเดทเทรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพลง
หนัง หรือเทคโนโลยี และสกู๊ปหลักที่จะนำเสนอมุมมองหรือทัศนคติของวัยรุ่นที่น่าสนใจ
นำมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่านได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทัศนคติที่หลากหลายมากขึ้น
สำหรับคอนเซ็ปต์ของนิตยสารเล่มแรกที่กลุ่มของนิสิตได้ทำขึ้น
คือ Teenage Dream เกี่ยวกับความฝันของวัยรุ่น
เพราะนิสิตเชื่อว่าวัยรุ่นทุกคนต้องมีความฝัน ไม่ว่าจะเป็นความฝันเล็กๆ หรือ
ความฝันใหญ่ๆ
ยิ่งเป็นวัยรุ่นแล้วนิสิตคิดว่าจะต้องมีความฝันที่หลากหลายอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความกล้าที่จะทำความฝันให้เป็นจริง จึงเป็นที่มาของสกู๊ปหลัก
คือ ความกล้าที่จะทำตามความฝัน และได้ น้องบิ๊งโกะ วัยรุ่นหัวใจศิลป์ อายุ 19
ปี ที่กล้าจะเสี่ยงและทำตามความฝันของตัวเองจนประสบความสำเร็จ
มาร่วมพูดคุยและให้สัมภาษณ์ในการทำนิตยสารครั้งนี้
สัมภาษณ์น้องบิ๊งโก๊ะ |
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ในการทำนิตยสารในครั้งนี้
ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนๆ อีก 5 คน
ต้องมีการช่วยกันคิด มีการประสานงานและแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในงานของตัวเอง
ขั้นตอนการทำนิตยสาร จึงแบ่งออกเป็นขั้นตอน ดังนี้
สมาชิกในกลุ่มประชุมกันเพื่อกำหนดรูปแบบของนิตยสารที่ต้องการทำ
โดยลงความเห็นว่าอยากจะทำนิตยสารที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ของคนเมือง
ภายในเล่มอยากให้มีเนื้อหาที่หลากหลาย และครอบคลุมไลฟ์สไตล์หลายๆ ด้าน
มีกลุ่มเป้าหมายในช่วงอายุ 18 – 25 ปี
ส่วนคอนเซ็ปต์ของฉบับนี้
ในตอนแรกที่กำหนดไว้ คือ อยากนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นไทย แต่เกิดปัญหาขึ้น
เพราะดูเหมือนว่าคอนเซ็ปต์จะกว้างและยากเกินไปสำหรับการทำนิตยสารเล่มแรกในชีวิตของพวกเรา
จึงกลัวว่าจะทำออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร
สมาชิกในกลุ่มจึงได้มีการประชุมกันอีกครั้ง
เพื่อปรับเปลี่ยนหัวข้อและเนื้อหาการนำเสนอ และจากการประชุมครั้งนี้สรุปได้ว่า
จะยังคงเป็นนิตยสารประเภทไลฟ์สไตล์เหมือนเดิม นำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย
แต่จะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นช่วงอายุ 15-18 ปี เพราะเป็นวัยที่นิสิตผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว
และรู้ว่าช่วงวัยนี้ต้องการอะไรหรือสนใจอะไร ส่วนคอนเซ็ปต์ของเล่มเปลี่ยนเป็น Teenage
Dream หรือ ความฝัน เพราะเห็นว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ล้วนมีความฝัน
และคิดว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจสำหรับวัยกลุ่มเป้าหมายของนิตยสาร
เมื่อได้ผลสรุปเป็นที่เรียบร้อย
ก็ถึงขั้นตอนของการตั้งชื่อนิตยสาร โดยคิดจากรูปแบบของนิตยสารเป็นหลัก
และได้ชื่อนิตยสารว่า ESTILO (อ่านว่า เอสติลอ) เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า สไตล์ ที่ใช้ภาษาอิตาลีก็เพราะว่า
กลุ่มเราอยากให้มองสไตล์ในแบบที่มีความหลากหลาย เหมือนกับคำว่า สไตล์
ที่ยังสามารถเรียกได้อย่างหลากหลาย
หลังจากกำหนดรูปแบบ
กำหนดคอนเซ็ปต์ และชื่อของนิตยสารเป็นที่เรียบร้อย
สมาชิกในกลุ่มทุกคนก็ต้องเริ่มคิดคอลัมน์ที่ตัวเองจะเขียน และนัดกันประชุมอีกครั้งเพื่อจัดทำดัมมี่
จัดกำหนดการจัดวางหน้านิตยสารให้เรียบร้อย
จากนั้นก็แยกย้ายกับไปทำคอลัมน์ของตัวเอง โดยมีการกำหนดเวลาส่งคอลัมน์ทุกอาทิตย์
อย่างน้อยคนละ 1 คอลัมน์
โดยอัพลง Google Drive เพื่อให้ บ.ก. ตรวจ
และส่งให้ฝ่ายกราฟิกนำไปจัดหน้านิตยสารอีกที
Google Dirve พื้นที่อัพโหลดคอลัมน์ของสมาชิก |
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บทบาทหน้าที่ที่นิสิตได้รับในการทำนิตยสารครั้งนี้ คือ ฝ่ายกราฟิก / นักเขียน
ฝ่ายกราฟิก
นิสิตได้รับหน้าที่หลัก
คือ เป็นฝ่ายกราฟิก จัดหน้านิตยสารภายในเล่มทั้งหมด โดยมีขั้นตอนการทำงาน คือ
1.
บ.ก. จะสร้าง Google Drive ไว้สำหรับรวบรวมคอลัมน์ที่ทำเสร็จแล้ว
2.
หลังจากนั้นเพื่อนๆ
สมาชิกในกลุ่มที่ทำคอลัมน์ของตนเองเสร็จแล้ว
จะอัพโหลดเนื้อหาและรูปภาพประกอบคอลัมน์ไว้ในไดร์ฟ โดยมีกำหนดว่า ภายใน 1 สัปดาห์
ต้องส่งคอลัมน์ที่ตนเองทำอย่างน้อย 1 คอลัมน์
และต้องทยอยทำกราฟิกให้เสร็จสัปดาห์ต่อสัปดาห์
3.
นำเนื้อหาที่สมาชิกอัพลง Google Drive มาจัดเรียงหน้าใน In Design ตามจำนวนหน้าที่กำหนดไว้ในดัมมี่
โดยดูรูปแบบตัวอย่างจากนิตยสารต่างๆ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเนื้อหาของนิตยสาร
4.
ส่งให้ บ.ก.
ความถูกต้องเบื้องต้นเมื่อทำแต่ละคอลัมน์เสร็จ
5.
หลังจากทำคอลัมน์เสร็จทั้งหมด
จึงนำมาจัดเรียงหน้าใหม่อีกครั้งและปริ้นท์ตัวอย่างออกมาเพื่อนำมาพิสูจน์อักษร
ตรวจสอบความถูกต้องเรื่องสำนวน การสะกดคำ ต่างๆ
6.
เมื่อพิสูจน์อักษรเรียบร้อย จึงนำมาแก้ไขอีกเป็นครั้งสุดท้าย
7.
นำส่งโรงพิมพ์เพื่อทำการพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม
นักเขียน
นิสิตได้เขียนคอลัมน์ BEAUTY REPORT จำนวน 3 คอลัมน์
คือ
1. Makeup is magic เป็นคอลัมน์สอนแต่งหน้า โดยมีขั้นตอนการทำงานคือ
อย่างแรกต้องเริ่มคิดว่าการแต่งหน้าสไตล์ไหนที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของนิตยสาร
วัย 15-18 ปี
และแต่งตามได้ง่ายไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาทมากนัก จึงได้ข้อสรุปว่า
จะแต่งหน้าสไตล์ “Sweety Girl” หรือแนวหวานๆ ใสๆ ต่อมาจึงหานางแบบ
โดยได้ติดต่อให้ นางสาวสุภิศรา พึ่งธรรม มาเป็นแบบในการแต่งหน้าให้ และนัดวัน
เวลาเพื่อทำคอลัมน์
ในการทำคอลัมน์นี้ได้นายศราวุธ รามณี มาถ่ายแบบให้
ในคอลัมน์นี้ต้องถ่ายภาพทั้งในขั้นตอนที่แต่งหน้า และหลังจากแต่งเสร็จแล้ว
เพื่อให้เห็นภาพรวม เมื่อถ่ายเสร็จแล้วจึงนำมาจัดหน้า
ใส่รูปและเนื้อหาขั้นตอนวิธีทำ
2. Make up Dupes list เป็นคอลัมน์เปรียบเทียบเครื่องสำอางคู่แฝดที่ราคาถูกกว่ากันเกินครึ่ง
เหตุผลที่ทำคอลัมน์นี้เป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายของนิตยสาร
เป็นวัยเรียนอยู่ การใช้เครื่องสำอางที่ราคาสูงเกินจำเป็นอาจจะดูไม่เหมาะสมนัก
จึงทำคอลัมน์นี้เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับน้องๆ ที่ยังไม่สามารถหารายได้ได้ด้วยตนเอง
เมื่อเลือกหัวข้อที่เห็นว่าเหมาะสมแล้ว เครื่องสำอางที่นิสิตเลือกมา
เป็นเครื่องสำอางที่นิสิตเลือกจากประสบการณ์ของตัวเอง และการหาข้อมูลมาประกอบ
และเขียนเนื้อหาของคอลัมน์ จากนั้นก็นำไปจัดวางหน้า
3.
QIUZ เรื่อง
พยากรณ์เงินในกระเป๋าอีก 10 ปีข้างหน้า จะรุ่งหรือร่วง มีขั้นตอนการทำงานดังนี้
หาข้อมูลจากหนังสือดูดวงหรือทำนายดวงของวัยรุ่น
มาเป็นข้อมูลในการเขียน โดยคอลัมน์นี้ได้ข้อมูลจากนิตยสาร I SEE จากนั้นก็เลือกหัวข้อที่น่าสนใจ และได้เรื่อง พยากรณ์เงินในกระเป๋าอีก
10 ปีข้างหน้า เหตุผลที่เลือกเขียนคอลัมน์เรื่องนี้เป็นเพราะต้องการให้เห็นถึงความสำคัญและพฤติกรรมของการใช้เงินของตนเอง
โดยเฉพาะวัยรุ่น เพื่อนำมาปรับใช้หรือปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลเป็นที่เรียบร้อย ก็นำมาจัดวางหน้าในนิตยสาร
จัดเรียงหน้าให้ได้พอดีตามที่กำหนดจำนวนหน้าไว้ในดัมมี่
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ด้านความรู้
ในการทำนิตยสารครั้งนี้ นิสิตได้รับความรู้มากมาย
จะเรียกว่าเป็นการบูรณาการความรู้จากหลายๆ ด้านก็ได้
จากที่เคยเรียนเป็นทฤษฎีก็ได้นำมาปฏิบัติจริง เพื่อสร้างผลงานขึ้นด้วยตนเอง
การทำงานครั้งนี้ทำให้นิสิตได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้
และสิ่งที่เคยรู้อยู่แล้วก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นเมื่อได้ลองนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง
สามารถสรุปออกมาได้ ดังนี้
1.
รู้จักประเภทของนิตยสารมากขึ้นที่เป็นทั้งของกลุ่มตนเองและกลุ่มเพื่อน
เพราะแต่ละกลุ่มก็ทำนิตยสารที่เนื้อหาแตกต่างกันออกไป มีทั้งไลฟ์สไตล์ สุขภาพ
ท่องเที่ยว พักผ่อน ทำให้นิสิตได้เรียนรู้ขอบเขตของเนื้อหาของนิตยสารแต่ละประเภท
2.
รู้จักส่วนประกอบและรายละเอียดของการทำนิตยสารมากขึ้น
เพราะนิตยสารจะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากการทำหนังสือ เช่น มีบทบรรณาธิการ
มีการพูดถึงเนื้อหาบนหน้าปก มีหน้าโฆษณา มีสกู๊ปหลัก สกู๊ปรอง
ซึ่งจะได้เรียนรู้วิธีการเขียนที่แตกต่างกันออกไป
3.
รู้จักการจัดเรียงคอลัมน์ให้เหมาะสม
เนื่องจากนิตยสารมีการแบ่งคอลัมน์อย่างชัดเจน
เนื้อหาไม่ได้มีความต่อเนื่องกันแบบหนังสือ
ในการจัดเรียงคอลัมน์จึงต้องมีจังหวะจะโคนในการจัดเรียงคอลัมน์ให้มีความกลมกลืนกัน
เนื้อหาไม่โดดกันจนเกินไป
4.
ฝึกการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนในการทำนิตยสาร
ได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำจริงๆ หลังจากที่ได้ไปดูงานมาแล้ว ว่าควรทำอะไรก่อน-หลัง
และนำมาปรับใช้ในการทำนิตยสารของกลุ่ม
5.
ฝึกการเขียนให้ดีขึ้น รู้จักการค้นคว้าหาข้อมูลที่นำมาประกอบ
เรียนรู้การเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมาย
เพราะในการทำนิตยสารเราไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดได้
จึงต้องเรียนรู้ว่าการเขียนดีที่ควรเป็นอย่างไรที่จะสามารถสื่อสารเนื้อหาที่เราต้องการสื่อออกไปได้อย่างชัดเจนและผู้อ่านเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร
6.
ฝึกการอ่าน นอกจากจะต้องฝึกเขียนแล้ว ยังจะต้องฝึกอ่านด้วย
เพราะต้องตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา การสะกดคำ
และการปรับเปลี่ยนคำหรือสำนวนให้เหมาะสม ในขั้นตอนนี้จะฝึกให้นิสิตมีความละเอียด
รอบคอบขึ้นด้วย
7.
ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งนิสิตเองมีหน้าที่ด้านกราฟิก
จึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบหน้านิตยสาร ว่าออกแบบอย่างไรถึงจะสวยงาม
น่าสนใจ และอ่านได้ง่าย อาจดูแบบจากนิตยสารต่างๆ และนำมาปรับใช้ในนิตยสารของตนเอง
อะไรที่ดูว่าดีก็นำมาปรับใช้ อะไรที่ดูว่าไม่ดีก็หลีกเลี่ยง
นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการจัดวางหน้าในดูสมดุลและเหมาะสมอีกด้วย
8.
ฝึกฝนการใช้โปรแกรม In Design ให้คล่องขึ้น เพราะนิสิตต้องใช้งานโปรแกรมนี้ตลอดการทำงาน
ทำให้นิสิตมีความคุ้นเคย และสามารถใช้โปรแกรมได้อย่างคล่องแคล่วขึ้นกว่าเดิม
ฝึกการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
ด้านการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
เนื่องจากการทำงานครั้งนี้
สมาชิกกลุ่มได้มาจากการจับฉลาก
ซึ่งเพื่อนบางคนนิสิตก็ไม่เคยทำงานด้วยก็ได้มาทำงานร่วมกัน
ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนกลุ่มใหม่
และในการทำงานเป็นทีมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ คนในกลุ่ม
จึงจะทำให้งานประสบความสำเร็จ
สิ่งที่นิสิตได้รับจากการทำงานเป็นทีม คือ
ได้ฝึกความรับผิดชอบในส่วนงานที่ตนเองได้รับ ทุกคนต้องทำงานที่ตนเองได้รับให้ดี
จึงจะทำให้งานสามารถดำเนินต่อไปได้ตามกำหนดเวลา
ยิ่งเวลาที่เพื่อนส่งเนื้อหาคอลัมน์มาให้ฝ่ายกราฟิก นิสิตก็ต้องรีบทยอยทำ
เพื่อไม่ให้งานต้องมาค้างอยู่ที่นิสิตแต่เพียงผู้เดียว
นอกจากนั้นยังฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการรับฟังเสียงส่วนใหญ่
บางสิ่งที่เราคิดว่าดีแล้ว แต่เพื่อนไม่เห็นด้วย ก็ต้องปรับตามสมาชิกส่วนใหญ่
รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่มเพราะแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน
เพื่อจะให้ได้งานออกมาดีที่สุด
รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเราและประนีประนอมในการทำงาน
สิ่งสำคัญคืองานชิ้นนี้ทำให้นิสิตรู้จักเพื่อนมากขึ้น
รู้ว่านิสัยของเพื่อนแต่ละคนเป็นอย่างไร รู้ว่าใครคือคนที่จะอยู่ข้างๆ
เราเวลาที่เรามีปัญหาหรือต้องการคำปรึกษา รู้ว่าใครใส่ใจงานนี้มากน้อยเพียงใด ฝึกความอดทนและฝึกมองโลกในมุมของความเป็นจริง
นิสิตคิดว่านิสิตโชคดีที่สมาชิกในกลุ่มที่ทำงานร่วมกันเป็นคนมีความรับผิดชอบในงานของตัวเอง
และส่งคอลัมน์ตามเวลาที่ บ.ก. กำหนดไว้ได้ ทำให้นิตยสารเล่มนี้เสร็จทันกำหนดทุกๆ
อย่าง และเป็นงานที่ไม่รีบร้อน นิสิตอยากขอบคุณ บ.ก.
ที่เต็มที่กับงานชิ้นนี้และเป็นผู้นำที่ดี
ขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้ทำงานร่วมกัน
ESTILO สำหรับนิสิตแล้วเป็นมากกว่านิตยสารเล่มนึง
แต่เป็นประสบการณ์ที่นิสิตได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่คิดว่ามันยาก
แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านมันมาได้ นิสิตได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการทำนิตยสาร
และคิดว่าผลที่ได้ออกมาก็คุ้มค่ากับความทุ่มเท ตั้งใจที่นิสิตได้ทำ
นางสาวอุดมวดี วรรณกูล
นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์
เอกเทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ